วันพฤหัสบดีที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

สีสันของเครื่องดนตรีสากล : เครื่องลมไม้

          เครื่องลมไม้ (Woodwinds) จำแนกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ
          1. กลุ่มไม่มีลิ้น  ได้แก่ ฟลุต และปิคโคโล
          2. กลุ่มลิ้นเดี่ยว ได้แก่ คลาริเนท และแซกโซโฟน
          3. กลุ่มลิ้นคู่ ได้แก่ โอโบ อิงลิชฮอร์น และบาซซูน
          สีสันของเครื่องดนตรีสากล : เครื่องลมไม้ มีความแตกต่างกัน ดังนี้
กลุ่มไม่มีลิ้น
           ปิโคโล (piccolo) มีเสียงแหลมที่สุดในวงออร์เคสตรา เป็นเสียงแจ่มใส สามารถดังลอดเสียงเครื่องดนตรีชนิดอื่น ๆ ในวงออกมาให้ได้ยินอย่างชัดเจน เหมาะที่จะใช้บรรเลงทำนองร่าเริงสนุกสนานกระโดดโลดแล่น


ที่มา : Youtube

           ฟลุต (flute) มีเสียงแจ่มใสชัดเจน จนนุ่มนวลเหมือนเสียงนกร้อง ให้อารมณ์อ่อนหวานร่าเริง ใช้เล่นทำนองที่เลื่อนไหลรวดเร็วได้อย่างคล่องแคล่ว

ที่มา :  Youtube

กลุ่มลิ้นเดี่ยว
           คลาริเนท (clarinets) เสียงปี่คลาริเนทมีสีสันหลากหลาย อยู่ในช่วงเสียง 3 ช่วงทบ เสียงในช่วงทบต่ำแตกต่างจากเสียงในช่วงทบสูง คลาริเนทมีหลายขนาด แต่ที่ใช้มากมี 3 ขนาด คือ ปี่คลาริเนท Eb และปี่คลาริเนท A
ในเรจิสเตอร์เสียงโซปราโน (soprano) กับปี่คลาริเนท Bb ระดับเสียงเบส

ที่มา : Youtube
          แซกโซโฟน (saxophones)  มีหลายขนาดเรียงลำดับจากขนาดเล็กไปหาขนาดใหญ่ คือ โซปราโน 
แซกโซโฟน  อัลโตแซกโซโฟน เทเนอร์แซกโซโฟน และบาริโทนแซกโซโฟน  เสียงของแซกโซโฟน หลอมรวม
เอาเสียงของเครื่องลมทุกอย่างไว้ด้วยกัน สามารถเล่นให้กลมกลืนกับเครื่องเป่าอื่น ๆ ได้ดี จะเป่าให้นุ่มนวลเหมือนฟลุตกลมกล่อมเหมือนเชลโล หรือแผดจ้าเหมือนแตรคอร์เนตก็ได้  ส่วนใหญ่จะใช้บรรเลงเพลงแจ๊ส
เพลงป๊อปปูลา และเพลงเดินแถว


ที่มา : Youtube

กลุ่มลิ้นคู่
          โอโบ (oboe) มีเสียงเล็กแหลมแหบและโหยหวนละห้อย มีช่วงเสียงแคบอยู่ระหว่าง 2 ช่วงทบเหนือ "C กลาง" เหมาะที่จะใช้เล่นทำนองแบบลื่นไหลแสดงอารมณ์โศกเศร้าบีบคั้นเสียดแทงใจ


ที่มา : Youtube
       
          อิงลิซฮอร์น หรือคอร์แองเกลส์ (English horn หรือ Cor anglais) คุณภาพเสียงเหมือนกันกับโอโบ แต่ทุ้มต่ำและแหบแห้งออกนาสิกมากกว่า เหมาะที่จะใช้เล่นทำนองโศกเศร้าให้อารมณ์ลึกลับ

ที่มา : Youtube
          บาซซูน (bassoon) มีเสียงทุ้มแหบพร่า เล่นทำนองเครียดและเคร่งขรึม  แต่ถ้าเล่นเสียงห้วน ๆ จะดังปุด ๆ จะให้ความรู้สึกขบขัน ในโอเปร่านิยมใช้บรรเลงประกอบท่าตลกของตัวละครเช่นคนเมา 

ที่มา : Youtube

ที่มา : สำเร็จ คำโมง. รู้รอบครอบจักรวาลดนตรี, 2537

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น